เร่งผลิตยากัญชา'ตำรับศุขไสยาศน์' กระจายรพ.ทั่วประเทศ

รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรเร่งผลิตยากัญชา“ตำรับศุขไสยาศน์” กระจายรพ.ทั่วประเทศ ช่วยผู้ป่วยนอนหลับ- กินอาหารดี แง้มขออย.ผลิตตำรับยากัญชาพื้นบ้าน คาดได้ใช้ปลายปี 63 ส่วนน้ำมันกัญชาแผนปัจจุบันรอผู้เชี่ยวชาญดูผลกระทบตับ-ไต

เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ได้รับการสนับสนุนจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในนำเอายาแพทย์แผนไทยตำรับศุขไสยาศน์มาใช้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาการนอนหลับ ที่มีการใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ช่วยการนอนหลับมาก่อนแล้ว แต่ยังหลับยาก หลับไม่ลึก หลับน้อย เมื่อใช้ยาตำรับศุขไสยาศน์แล้วพบว่าช่วยนอนหลับดี และสามารถรับประทานอาหารได้ดี ดังนั้นทางรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จึงตั้งใจว่าจะมีการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ เพื่อเป็นข้อมูลทางวิชาการสนับสนุนการใช้ดูแลผู้ป่วยต่อไป

หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ฯ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยาตำรับศุขไสยาศน์ ส่วนใหญ่จะมีสมุนไพรรสร้อน เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด โดยเฉพาะพริกไทย เมื่อทำออกมาเป็นชนิดผงให้ผู้ป่วยรับประทานแล้วทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินอาหาร โดยเฉพาะผู้สูงอายุ จึงมีการแนะนำผู้ป่วยให้ใช้น้ำผึ้งมาละลายตัวยาแทนการใช้น้ำเปล่าหรือน้ำอุ่น พบว่าได้ผลดีในการช่วยลดการระคายเคือง แต่ผู้ป่วยไม่สะดวก ดังนั้นทางรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรจึงปรับสูตรผลิตเป็นชนิดแคปซูล ซึ่งจะไปแตกตัวและดูดซึมที่กระเพาะอาการลดการระคายเคืองได้ โดยจะผลิตทั้งหมด 1.8 หมื่นกระปุก กระปุกละ 60 เม็ด รวมประมาณ 1,080,000 แคปซูล เพื่อกระจายให้กับรพ.ทั่วประเทศในเดือน ก.ย.นี้ 

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา เราพบว่ามีผู้ป่วยกลุ่มที่มีปัญหานอนไม่หลับ แต่ยังไม่มีข้อบ่งชี้เพียงพอในการใช้ยากัญชา แต่ต้องการใช้ เมื่อทางรพ.ไม่ได้สั่งจ่ายให้ จึงทำให้คนไข้กลุ่มนี้หันไปใช้ยากัญชาใต้ดิน ซึ่งมีความเสี่ยงได้ยาที่ไม่มีคุณภาพ มีการปนเปื้อนบ้าง หรือไม่มีตัวยาอยู่จริงบ้าง ดังนั้นทางรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรจึงมีแนวคิดใช้เหมือนในต่างประเทศที่ทำเรื่องการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (Harm Reduction) เนื่องจากขณะนี้เราเองมีตำรับยาพื้นบ้านเกี่ยวกับน้ำมันกัญชา 1 ตำรับ ที่มีปริมาณต่ำ ซึ่งจากการประเมินความปลอดภัยเห็นว่าได้ผล อยู่ระหว่างการขออนุญาตสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการผลิตยาตำรับนี้ หากผ่าน อย. คิดว่าเราจะมียากัญชาตำรับพื้นบ้านอีกตัวใช้ในปลายปี 2563 ตอบสนองผู้ป่วยกลุ่มอาหารนอนไม่หลับ อาการปวด ที่ต้องการปริมาณยาไม่มาก
 

ภญ.ผกากรอง กล่าวอีกว่า สำหรับการใช้สารสกัดน้ำมันกัญชาชนิด ทีเอชซี (THC) 1.7% ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบัน ใช้ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย และกลุ่มผู้ป่วยปวดปลายประสาทที่ใช้ยาอื่นแล้วไม่ได้ผล พบว่าช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต ของผู้ป่วยให้กินข้าวได้ นอนหลับดีขึ้น ช่วยลดปวดได้ ด้านความปลอดภัยด้วยความที่ปริมาณน้อยจึงไม่ค่อยมีผลข้างเคียง หรือมีน้อย ส่วนใหญ่ก็หายไป อย่างไรก็ตามเนื่องจากพบว่าค่าตับ ค่าไตของผู้ป่วยลดลง จึงอยู่ระหว่างรอผู้เชี่ยวชาญด้านตับ ไต พิจารณาว่าเกิดจากสาเหตุใดกันแน่

เบื้องต้นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเรื่องนี้พูดยาก เพราะปัจจัยที่ทำให้ค่าตับ ค่าไตลดลงนั้นมีหลายอย่าง ตั้งแต่ตัวโรคเอง เรื่องอายุที่มากขึ้น แต่ก็มีรายงานเช่นเดียวกันว่ากัญชาไปทำให้เลือดมาเลี้ยงที่ไตน้อยลง ส่วนผลต่อตับมีรายงานว่ากรณีที่รับประทานยากัญชา ไม่ใช่การหยดใต้ลิ้น จะมีผลทำให้ยาจะถูกเปลี่ยนเป็นสารที่มีการออกฤทธิ์แรงขึ้น และไม่มีฤทธิ์ที่ตับก็ได้ ดังนั้นต้องรอผู้เชี่ยวชาญยืนยันอีกครั้ง แต่เนื่องจากคนไข้ที่มีค่าตับ ไตผิดปกติ มีเพียง 3-4 ราย ซึ่งน้อยเกินกว่าที่จะบอกอะไรได้ ตอนนี้ประสานรพ.ในเขตสุขภาพที่ 6 มาดูด้วยหากได้ตัวเลขผู้ป่วยเยอะขึ้นก็จะมีข้อมูลมากขึ้น ขณะเดียวกันทางรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรจะเดินหน้าขอคณะกรรมการจริยธรรมในมนุษย์ เพื่อวิจัย และตีพิมพ์ให้เป็นเรื่องเป็นราว เพื่อนำไปสนับสนุนการใช้ทางการแพทย์ต่อไป   

“อย่างไรก็ตาม ที่เราบอกได้คือยากัญชานั้น หากนำไปใช้ถูกกับโรค เช่น คนไข้มะเร็งที่มีปัญหาเรื่องคุณภาพการใช้ชีวิต กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ปวด หรือเป็นโรคปวดที่ได้รับยาอื่นมาแล้วแต่ไม่ได้ผล คิดว่าโรคเหล่านี้จะได้ประโยชน์จากยากัญชา” ภญ.ผกากรอง กล่าว.
 

https://www.dailynews.co.th/politics/784794