ออสเตรเลียทำข้อตกลงบริษัทยา ฉีดวัคซีนโควิดฟรีให้ประชาชน
รัฐบาลออสเตรเลีย ทำข้อตกลงร่วมกับบริษัทยาในอังกฤษ “แอสตร้าเซนเนก้า” หากพัฒนาวัคซีนโควิด-19 สำเร็จ เตรียมฉีดให้ประชาชน 25 ล้านคน ฟรี
วันที่ 19 สิงหาคม 2563 ซีเอ็นเอ็นบิสสิเนส รายงานว่า รัฐบาลออสเตรเลีย ประกาศว่า ได้ทำข้อตกลงกับบริษัทผู้ผลิตยา “แอสตร้าเซนเนก้า” ให้จัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนทั้งประเทศ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
เรื่องนี้ทำให้ออสเตรเลียกลายเป็นประเทศล่าสุดที่มีการเตรียมความพร้อมเรื่องวัคซีนโควิด-19 สำหรับประชาชน ในกรณีที่การทดสอบประสบผลสำเร็จ
“แอสตร้าเซนเนก้า” บริษัทผู้ผลิตยาในอังกฤษ กำลังพัฒนาวัคซีนร่วมกับมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด โดยตอนนี้อยู่ในขั้นการทดสอบวัคซีนกับอาสาสมัครหลายพันคนจากหลายประเทศ
ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว รัฐบาลออสเตรเลียจะทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตวัคซีน และฉีดวัคซีนฟรีให้กับประชาชนทุกคนในประเทศ
นายสก๊อต มอร์ริสสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กล่าวว่า วัคซีนอ๊อกซ์ฟอร์ดเป็นหนึ่งในวัคซีนที่ก้าวหน้าและมีความหวังมากที่สุดในโลก และภายใต้ข้อตกลงนี้ ชาวออสเตรเลียทุกคนจะสามารถเข้าถึงวัคซีนดังกล่าวได้
“หากวัคซีนตัวนี้ประสบความสำเร็จ เราจะผลิตและแจกจ่ายวัคซีนโดยตรงให้กับทีมของเรา เพื่อฉีดให้กับชาวออสเตรเลีย 25 ล้านคน ฟรี” นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กล่าวและว่า
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการการันตีว่าการพัฒนาวัคซีนจะสำเร็จหรือไม่ ซึ่งทำให้เราต้องหารือกับหลายหน่วยงานทั่วโลก พร้อมกับสนับสนุนนักวิจัยในประเทศ เพื่อพัฒนาวัคซีนไปพร้อมๆ กัน
เนื่องจากข้อตกลงนี้ยังอยู่ในขั้นต้น จึงยังไม่มีการกำหนดรายละเอียดเรื่องงบประมาณและการแจกจ่ายวัคซีน แต่ก่อนหน้านี้รัฐบาลออสเตรเลียระบุว่า ได้ใช้เงินหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อการค้นหาวัคซีน
สำหรับ “แอสตร้าเซนเนก้า” ก่อนหน้านี้ได้ทำข้อตกลงร่วมกับรัฐบาลและหน่วยงานในหลายประเทศ เพื่อผลิตวัคซีนจำนวนอย่างน้อย 3 พันล้านโดส พร้อมจัดส่งเร็วสุดในช่วงกันยายนนี้
สหรัฐอเมริกา ได้ทำข้อตกลงกับ “แอสตร้าเซนเนก้า” เพื่อซื้อวัคซีน 300 ล้านโดส จัดส่งในเดือนตุลาคม ส่วนประเทศอื่นๆ ที่ทำข้อตกลงกับบริษัทรายนี้ ยังรวมถึง รัสเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน และบราซิล ล่าสุด บริษัทยังได้ทำข้อตกลงกับคณะกรรมาธิการยุโรป เพื่อจัดส่งวัคซีนกว่า 400 ล้านโดส ให้กับประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรป
“ปาสกาล โซไรออท” ซีอีโอบริษัท เผยว่า บริษัทหวังว่าจะสามารถผลิตวัคซีนได้เร็วที่สุด เพื่อส่งมอบวัคซีนล็อตแรกให้ทันปลายปีนี้