ทั่วโลกรอลุ้น "วัคซีน COVID-19" เชื่อไม่เกินปีหน้า..ได้ใช้
ล่าสุด สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ภายหลังการหารือระหว่างนายวิคเตอร์ โคโรเนลลี เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำเม็กซิโก กับ นายมาร์เซโล อีบราด รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของเม็กซิโก นายมาร์เซโลได้ทวีตข้อความแสดงความสนใจที่จะทดสอบกับคนจำนวนมากเพื่อให้มีวัคซีนในเม็กซิโกโดยเร็วที่สุด โดยเชื่อว่าการดำเนินการทดสอบวัคซีนต้านโควิด-19 ของรัสเซียเพราะเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามอย่างยิ่งของละตินอเมริกา ในการจัดหายาที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 นอกจากความร่วมมือกับรัสเซียในการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 แล้ว เม็กซิโกยังได้ร่วมมือกับ AstraZeneca บริษัทผลิตยารายใหญ่ของอังกฤษ และมหาวิทยาลับออกซ์ฟอร์ด พัฒนาวัคซีนเพื่อป้อนให้กับละตินอเมริกา นอกจากนี้เม็กซิโก ยังอยู่ระหว่างการเตรียมพร้อมเพื่อทดสอบกับคนจำนวนมาก สำหรับวัคซีนที่พัฒนาโดยบริษัท Johnson & Johnson ของสหรัฐฯ และบริษัทจีนอีก 2 ราย
ส่วนจีน รายงานข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศ ระบุว่า วัคซีนต้านโควิด-19 ที่ได้รับการพัฒนาโดย China National Pharmaceutical Group (Sinopharm) บริษัทผู้ผลิตยาของจีน ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบกับคนจำนวนมากในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อดูประสิทธิภาพของการรักษา และความปลอดภัยในคน มีความคืบหน้าไปมาก ทั้งนี้ China National Biotec Group (CNBG) โดยมีซีโนฟาร์ม เป็นส่วนหนึ่งของ CNBG นั้น ได้พัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 โดยมีโรงงาน 2 แห่งที่อู่ฮั่น และปักกิ่ง มีกำลังการผลิตรวมกันได้มากกว่า 200 ล้านโดสต่อปี โดยเมื่อผลิตได้น่าจะขายในราคาประมาณกว่า 1,000 หยวน หรือกว่า 4,500 บาท สำหรับการฉีด 2 เข็ม
ข่าวดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ขณะนี้ประเทศมหาอำนาจกำลังแข่งขันกันพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 เพื่อแย่งชิงอิทธิพล และศักดิ์ศรีของความเป็นประเทศมหาอำนาจ ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนา เพียงแค่ต้องการทำให้แน่ใจว่า จะมีการกระจายวัคซีนอย่างเป็นธรรม
เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ The New York Times เปิดเผยข้อมูลการพัฒนาวัคซีนโรคโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 140 ตัวที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาโดยทีมนักวิจัยจากทั่วโลก ซึ่งในขั้นตอนปกติของการพัฒนาวัคซีนรักษาโรคนั้น ต้องมีการศึกษาวิจัยและทดลองก่อนจะได้รับอนุญาตให้นำไปใช้กับผู้ป่วย แต่สำหรับโรคโควิด-19 นั้น เป็นกรณีฉุกเฉินที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต้องเร่งขั้นตอนการพัฒนาและทดสอบ เพื่อให้สามารถผลิตวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยได้ตามเป้าหมายภายในปีหน้า
การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เริ่มต้นครั้งแรกในเดือนมกราคม ด้วยการถอดรหัสข้อมูลพันธุกรรม (Genome) ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (SARS-CoV-2) ที่เป็นสาเหตุของโรคโควิด-19 ก่อนจะเข้าสู่ขั้นทดลองในมนุษย์ หรือทดลองทางคลินิกแบบปลอดภัยเป็นครั้งแรกในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
แต่ผลการทดลองที่ไม่แน่นอนทำให้บางทีมวิจัยนั้นล้มเหลวหรือได้ผลลัพธ์ที่ไม่ชัดเจน และมีเพียงไม่กี่ทีมเท่านั้นที่ประสบผลสำเร็จ ถึงขั้นทำให้วัคซีนสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันและสร้างสารภูมิต้านทานออกมาต่อสู้กับไวรัส
ล่าสุดที่น่าสนใจ คือ วัคซีนต้านโควิด-19 ของรัสเซีย ภายใต้ชื่อ “สปุตนิก 5” (Sputnik V) ซึ่งตั้งตามชื่อของดาวเทียมดวงแรกของโลกของรัสเซียนั้น มีการประเมินว่า น่าจะเป็นวัคซีนต้านโควิด-19 ตัวแรก ที่จะผลิตออกสู่ตลาด และจะเปิดตัวปลายเดือนนี้ โดยรัสเซียได้ผลิตวัคซีนชุดแรก ทั้งๆที่ยังไม่ได้ทดสอบระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะสุดท้าย เพื่อทดสอบความปลอดภัย และประสิทธิภาพของวัคซีน แต่กระทรวงสาธารณสุขได้อนุมัติให้ผลิตได้แล้ว
ปัจจุบันมีทีมวิจัยเอกชนหลายรายใน สหรัฐฯ จีน เกาหลีใต้ อังกฤษ ฝรั่งเศสและเยอรมนี ที่พัฒนาวัคซีนในรูปแบบนี้ โดยทีมวิจัยที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด อยู่ระหว่างการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 ได้แก่ บริษัท Moderna ของสหรัฐฯ, ทีมวิจัยรวมจากบริษัท BioNTech ของเยอรมนี, Pfizer ของสหรัฐฯ และ Fosun Pharma ของจีน และมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอนของอังกฤษ
โดยวิธีที่ได้รับการยอมรับและคาดว่าน่าจะมีความสำเร็จมากสุด คือ Viral Vector Vaccines เป็นการพัฒนาวัคซีนด้วยการใช้ไวรัสที่ทำให้อ่อนลงและไม่ก่อให้เกิดโรค มาตัดต่อใส่สารพันธุกรรมของไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งปัจจุบันมี 3 ทีมวิจัยที่กำลังนำวัคซีนที่พัฒนาด้วยวิธีนี้ ไปทดสอบในมนุษย์ ได้แก่ ทีมวิจัยของ AstraZeneca ผู้ผลิตยารายใหญ่ของอังกฤษและสวีเดน ที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด โดยทีมวิจัยนี้มีความก้าวหน้าถึงขั้นทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 3 และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการ Warp Speed ซึ่งคาดว่าอาจส่งมอบวัคซีนฉุกเฉินได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม
ทีมวิจัยของบริษัท Can-Sino Biologics จากจีนที่ร่วมมือกับสถาบันชีววิทยา ของสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารของจีน ซึ่งมีความก้าวหน้าในการพัฒนาถึงขั้นทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 และมีข้อมูลว่าผลการพัฒนา สามารถทำให้วัคซีนกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันได้ดี จนทำให้กองทัพจีนอนุมัติการใช้วัคซีนนี้ภายในกองทัพเมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมาและทีมวิจัยจากสถาบันวิจัย Gamaleya ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุขรัสเซีย เริ่มต้นการทดสอบวัคซีนมนุษย์ ระยะที่ 1 ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
กับอีกวิธีหนึ่ง คือ Whole-Virus Vaccines ที่พัฒนาโดยใช้ไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนลงหรือไม่ทำงานเพื่อกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน การพัฒนาวัคซีนด้วยวิธีนี้ ณ ปัจจุบัน มีเพียง 3 ทีมวิจัยจากจีน ได้แก่บริษัท Sinopharm ของรัฐบาลจีน, บริษัท Sinovac Biotech และสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์จีน ที่อยู่ระหว่างการทดสอบในมนุษย์ โดย Sinopharm นั้นมีผลทดสอบที่ค่อนข้างดีและอยู่ระหว่างการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 3
สิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดคือ การผลิตวัคซีนที่ต้องนำมาใช้กับคน 7,000 ล้านคนบนโลก เป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากที่ต้องรอลุ้นกันต่อไป.