ทุ่ม 2.5 พันล้านตั้งโรงงานผลิตยามะเร็ง ฟุ้งช่วยชาติประหยัดกว่า 1 หมื่นล้าน
เมื่อวันที่ 25 ก.ย. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมพัฒนาโครงการโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง ระหว่าง นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยนายอนุทินกล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ต่อเนื่อง 20 ปี คนไทยต้องเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งกว่า 80,000 คนต่อปี และมีค่าใช้จ่ายด้านยาที่สูงมาก ความร่วมมือในการสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งในครั้งนี้ จะทำให้ไทยมีโรงงานที่สามารถผลิตยารักษาโรคมะเร็งที่ครอบคลุมการรักษามะเร็งทุกกลุ่มโรค เมื่อไทยผลิตได้สำเร็จคาดว่าจะช่วยลดราคายาลงได้มากกว่า 50% และลดภาระการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่ามากกว่า 21,000 ล้านบาทต่อปี และโครงการนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้นเป็นการพึ่งพาตนเอง และยังเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมยาของไทยให้ทัดเทียมสากล สร้างความมั่นคงทางยาถือเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดย ปตท.จะลงทุนในการวางกรอบ ออกแบบก่อสร้าง กำกับควบคุม และ อภ.จะใช้เทคโนโลยีการผลิตเข้าไปดำเนินการและทยอยจ่ายเป็นค่าเช่า
นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า การส่งเสริมการวิจัยและการผลิตยาที่ทันสมัยเป็นสิ่งจำเป็นสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศในการมุ่งเน้นเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว โครงการโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง จะเป็นอีกก้าวที่จะช่วยบรรลุเป้าหมายการยกระดับสาธารณสุข เสริมสร้างศักยภาพและความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
นายอรรถพลกล่าวว่า โรงงานผลิตยารักษามะเร็งจะตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมวนารมย์ของ ปตท. อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เบื้องต้นใช้งบประมาณ 2,500 ล้านบาท ขั้นตอนต่อไปจะศึกษาความเป็นไปได้การสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งขั้นละเอียด คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2565 ใช้เวลาประมาณ 14 เดือน จากนั้นจะสรุปผลการศึกษาและประเมินแนวทางการขับเคลื่อนโครงการนี้ต่อไป โดยมีแผนที่จะดำเนินการก่อสร้างโรงงานดังกล่าวในปี 2565 เพื่อให้สามารถทำการวิจัยพัฒนาและผลิตยารักษาโรคมะเร็งเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2570 นอกจากนี้ หากผลิตเพียงพอจะต่อการเข้าถึงยาของคนไทยแล้ว อาจจะต่อยอดส่งออกไปในตลาดอาเซียนด้วย
นพ.วิฑูรย์กล่าวว่า ปัจจุบันไทยนำเข้ายารักษามะเร็ง 100% อภ.จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนายารักษาโรคมะเร็ง และรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ผลิตยารักษาโรคมะเร็งชั้นนำของโลก พร้อมทั้งมีแผนก่อสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง โดยมุ่งเน้นการผลิตยารักษาโรคมะเร็งครบวงจร โดยจะเน้นยาตัวที่สิทธิบัตรหมดก่อน ซึ่ง อภ.มีการศึกษาวิจัยเตรียมพร้อมล่วงหน้าอยู่แล้ว ทั้งนี้การที่จะสามารถผลิตยามะเร็งได้เองในประเทศ จะทำให้ยาราคาถูกลง โอกาสที่จะผลักดันยามะเร็งเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติก็จะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันยาบางชนิดที่ยังไม่ได้อยู่ในบัญชียาหลักฯเพราะยายังมีราคาแพง.
https://www.thairath.co.th/news/society/1938045