ข่าวดีผู้ป่วย "มะเร็ง" ไทยทุ่ม 2.5 พันล้าน ตั้งโรงงานผลิตยา เริ่มปั๊มปี 70
"มะเร็ง" เป็นสาเหตุการ "ตาย" อันดับ 1 ติดต่อกันหลายสิบปีในประเทศไทย โดยจากข้อมูลล่าสุดพบคนไทยเสียชีวิตจากโรคนี้ถึงปีละกว่า 67,000 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 8 คน และพบผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยราว 120,000 คนต่อปี ซึ่งพบมากที่สุดใน "เพศชาย" คือ
1.มะเร็งตับและท่อน้ำดี
2.มะเร็งปอด
3.มะเร็งลำไส้ใหญ่
4.มะเร็งต่อมลูกหมาก
5.มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ส่วนมะเร็งใน "เพศหญิง" ที่พบมาก คือ
1.มะเร็งเต้านม
2.มะเร็งปากมดลูก
3.มะเร็งตับและท่อน้ำดี
4.มะเร็งปอด
5.มะเร็งลำไส้ใหญ่
10 สาเหตุ ร้อยละ 90 ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิด "มะเร็ง"
ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งกว่าร้อยละ 90 เป็นสาเหตุจากปัจจัย "ภายนอก" ไม่ใช่พันธุกรรมในครอบครัวอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ ปัจจัยภายนอกที่ว่านี้คือ พฤติกรรมการปฏิบัติตัวให้ "สุ่มเสี่ยง" ต่อการเกิดมะเร็ง คือ
1.พฤติกรรมการกินเนื้อสัตว์ประเภทปิ้งย่าง อาหารทอด อาหารไขมันสูง หรือรับประทานอาหารซ้ำๆ
2.การสูบบุหรี่
3.การดื่มสุรา
4.ความเครียด
5.การได้รับรังสี
6.ติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย พยาธิ
7.ความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน
8.ความอ้วน
9.ไม่ออกกำลังกาย
10.ไม่ทานผักผลไม้
ข่าวดี! ไทยกำลังจะมี โรงงานผลิตยารักษา "มะเร็ง"
เมื่อ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ลงนามสัญญาร่วมพัฒนาโครงการโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งแห่งแรกของไทย โดยผู้ป่วยจะเข้าถึงยาที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงมากขึ้น และลดภาระค่าใช้จ่ายในการนำเข้ายาจากต่างประเทศ สำหรับโรงงานจะตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมวนารมย์ของ ปตท. หรือ PTT WEcoZi อ.บ้านฉาง จ.ระยอง
ช่วยชาติประหยัดงบฯ นำเข้ายาจาก ตปท. กว่า 2.1 หมื่นล้าน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงข้อดีการสร้างโรงงานผลิตยารักษามะเร็งแห่งแรกในไทย ว่า ตลอด 20 ปี คนไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งกว่า 80,000 คนต่อปี และมีค่าใช้จ่ายด้านยาที่สูงมาก ความร่วมมือในการสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งครั้งนี้จะทำให้ประเทศไทยมีโรงงานที่สามารถผลิตยารักษาที่ครอบคลุมการรักษาทุกกลุ่มโรคมะเร็งในปัจจุบัน และในทุกกลุ่มการผลิต เมื่อสำเร็จคาดว่าจะช่วยลดราคายาลงได้มากกว่า 50% และลดภาระการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่ามากกว่า 21,000 ล้านบาทต่อปี เป็นการยกระดับอุตสาหกรรมยาของไทยให้ทัดเทียมสากล สร้างความมั่นคงทางยา ถือเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
ทุ่ม 2.5 พันล้าน ผุดโรงงาน คาด 14 เดือนเสร็จ เล็งต่อยอดส่งออก
ขณะที่ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมพัฒนาโครงการโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง กล่าวถึงโครงการฯว่า โรงงานผลิตยารักษามะเร็งจะเป็นอีกก้าวที่จะช่วยบรรลุเป้าหมายการยกระดับสาธารณสุข วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และการแพทย์ของไทย ส่งเสริมการต่อยอดงานวิจัยทางการแพทย์ของประเทศให้สำเร็จเป็นรูปธรรม ก่อให้เกิดการจ้างงาน ช่วยลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพและความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
ด้าน นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง เบื้องต้นใช้งบประมาณ 2,500 ล้านบาท ขั้นตอนต่อไปจะศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งขั้นละเอียด คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2565 ใช้เวลาประมาณ 14 เดือนแล้วเสร็จ หลังจากนั้นจะทำการสรุปผลการศึกษาและประเมินแนวทางการขับเคลื่อนโครงการนี้ต่อไป และทำการวิจัยพัฒนาและผลิตยารักษาโรคมะเร็งเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2570 ทั้งนี้หากการผลิตเพียงพอต่อการเข้าถึงยาของคนไทยแล้ว อาจจะมีการต่อยอดด้วยการส่งออกไปในตลาดอาเซียน
ตั้งเป้าคนไทยเข้าถึงยาดี ราคาถูก เน้นกลุ่มยาที่หมดสิทธิบัตร
นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้ายารักษามะเร็ง 100% ไม่มีโรงงานในประเทศผลิต ดังนั้นจึงร่วมกันพัฒนาและก่อสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง ทั้งยาเคมีบำบัด กลุ่มยารักษาแบบจำเพาะเจาะจง และยาฉีดชีววัตถุคล้ายคลึง เป็นต้น เบื้องต้นกำลังการผลิตยาเคมีบำบัด 30 ล้านยูนิตต่อปี และยาชีววัตถุ 31 ล้านยูนิตต่อปี โดยจะเน้นยาตัวที่สิทธิบัตรหมดก่อน ซึ่ง อภ.มีการศึกษาวิจัยเตรียมพร้อมล่วงหน้าอยู่แล้ว สามารถครอบคลุมการเข้าถึงของคนไทยได้ และเมื่อเพียงพอต่อการใช้ในประเทศแล้ว สามารถเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อส่งออกต่อไปได้ ทั้งนี้การผลิตยามะเร็งได้เองในประเทศ จะทำให้ยาราคาถูกลง โอกาสที่จะผลักดันยามะเร็งเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติก็จะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันยาบางชนิดที่ยังไม่ได้อยู่ในบัญชียาหลักฯ เพราะยายังมีราคาแพง
ทั้งนี้หากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะถือเป็นอีกก้าวที่ช่วยยกระดับสาธารณสุขไทย เสริมสร้างศักยภาพความมั่นคงด้านสาธารณสุข และเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพราะปัจจุบันมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย หากไทยผลิตยาได้เอง จะสามารถสกัดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ลดการสูญเสียเงินตรา หากผลิตเพียงพอต่อการเข้าถึงของคนไทยแล้ว อาจต่อยอดส่งออกสร้างรายได้ให้ประเทศอีกทางหนึ่งด้วย.
ผู้เขียน : หงเหมิน
กราฟิก : Supassara Traiyansuwan
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท
https://www.thairath.co.th/news/local/1940965