Benadryl Challenge ยาพิษบนโซเชียลมีเดีย
ไม่ใช่แค่อันตรายที่วงการแพทย์และสาธารณสุขโดยเฉพาะ FDA ออกมาเตือนเกี่ยวกับปรากฏการณ์ Benadryl Challenge ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของ Chloe Marie Phillips วัยรุ่นอเมริกันวัย 15 ปี จาก Blanchard, Oklahoma ที่กินยา diphenhydramine หรือชื่อการค้าว่า Benadryl เกินขนาด เมื่อเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา
เรื่องนี้ถือเป็นความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้นในเครือข่ายโซเชียลมีเดียที่กำลังได้รับความนิยมอย่าง TikTok ที่ออกมาเชิญชวนให้วัยรุ่นกินยาในปริมาณมากและในบางกรณีสูงถึง 10 เท่าของยาปกติ Frank Cunningham ผอ.แผนกฉุกเฉินสำหรับเด็กที่ศูนย์การแพทย์ JFK ให้ข้อมูลว่า ยาไดเฟนไฮดรามีนหรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อแบรนด์ Benadryl เป็นสารต่อต้านฮีสตามีนและมักใช้ในการรักษาโรคภูมิแพ้ ขนาดของ Benadryl ที่เด็กๆรับประทานในอาการประสาทหลอนนั้นใกล้เคียงกับขนาดยาที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
“มีรายงานเด็กหลายคนที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและถึงขั้นเสียชีวิตจากการใช้ยาเกินขนาดตามรายงานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ซึ่งได้ออกคำเตือนอย่างเข้มงวดเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อสัปดาห์ก่อน” นพ.คันนิงแฮม บอกพร้อมกับอธิบายเพิ่มเติมว่า การกินยา diphenhydramine เกินขนาด อาจทำให้เกิดอาการง่วงนอน, ปากแห้ง, ท้องผูก ไม่สามารถปัสสาวะได้ กรณีที่รุนแรงมากขึ้นอาจนำไปสู่ภาพหลอน ชัก เพ้อ โรคจิต โคม่า จนถึงขั้นเสียชีวิตได้
สิ่งสำคัญที่สุด นพ.แฟรงค์ คันนิงแฮม บอกว่า การป้องกันเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นมากที่สุด โดยเฉพาะพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่จำเป็นต้องรู้ว่าลูกของตนเองทำอะไรบ้างบนโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะการเช็กอินและล็อกอินของพวกเขา
เหตุการณ์ดังกล่าวแม้แต่ Johnson & Johnson ผู้ผลิตยาดังกล่าวเอง ยังออกมาโพสต์คำเตือนเกี่ยวกับความท้าทายนี้ เช่นเดียวกับ TikTok แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่เป็นผู้จุดประกายปรากฏการณ์ Benadryl Challenge ที่ได้ออกมาแถลงว่า ได้จัดการลบโพสต์ที่เผยแพร่ความท้าทายเหล่านี้แล้ว
ก่อนหน้านี้ Cook Children’s Medical Center ในเมืองฟอร์ตเวิร์ท รัฐเท็กซัส ได้ออกคำเตือนถึงผู้ปกครองเกี่ยวกับความท้าทายของ Benadryl หลังจากรักษาวัยรุ่นสามคนที่ใช้ยาเกินขนาดในเดือนพฤษภาคม โดยวัยรุ่นคนหนึ่งที่มาถึงห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลกินยา Benadryl เข้าไปถึง 14เม็ด
“วัยรุ่นอเมริกันหลายคนพยายามเผยแพร่แนวคิดนี้ โดยเชื่อว่าเป็นยาที่กินได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์และไม่น่าจะมีอันตราย” ซินดี้ แกรนท์ ผอ. HCADA หรือ Hillsborough County Anti Drug Alliance ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อต่อต้านการใช้ยาผิดประเภท
เจสสิก้า นูฮาวันดี หัวหน้าเภสัชกรผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอร่วมของร้านขายยาออนไลน์ Honeybee Health บอกว่า Benadryl ในปริมาณสูงสุด 24 ชั่วโมงคือ 300 มิลลิกรัม (มก.) โดยยาแต่ละเม็ดมีขนาด 25 มก. ซึ่งหากกินเกินขนาดโอกาสที่จะเป็นอันตรายก็สูงมาก
“การกินไดเฟนไฮดรามีนในปริมาณที่มากเกินไปเป็นเรื่องอันตรายเนื่องจากมีผลข้างเคียงที่เป็นไปได้มากมายที่มาพร้อมกับพิษของยาดังกล่าว” นูฮาวันดีบอกและว่า ขนาดที่ไม่รุนแรงบางรายก็ยังมีอาการง่วงนอน ปากแห้ง ท้องผูก และปัสสาวะไม่ออก ในกรณีที่รุนแรงอาจมีอาการเพ้อ โรคจิต ชัก หรือโคม่าโดยก่อนหน้านี้มีเด็กที่กินยาตัวนี้เกินขนาดพยายามฆ่าตัวตายมาแล้ว
FDA สหรัฐฯบอกว่า ได้รับรายงานการเข้ารักษาตัวของวัยรุ่นในห้องฉุกเฉินหรือเสียชีวิตหลังจากเข้าร่วม Benadryl Challenge ซึ่งได้รับการสนับสนุนในวิดีโอที่โพสต์บนแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดีย TikTok
ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพของสหรัฐฯบอกว่า ภายหลัง Benadryl Challenge แพร่หลายออกไปไม่นาน พบว่าวัยรุ่นอเมริกันมีการทำร้ายตัวเองเพิ่มขึ้นและเข้ารับการรักษาที่แผนกฉุกเฉินเพื่อรักษาภาวะซึมเศร้าและการพยายามทำร้ายตัวเองก็เพิ่มขึ้นด้วย
สำหรับประเทศไทย ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่พบรายงานการเสียชีวิตของผู้เข้าร่วมทำ Benadryl challenge ผ่านแอปพลิเคชัน TikTok สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอเตือนประชาชน โดยเฉพาะพ่อแม่ ผู้ปกครอง ให้ระวังบุตรหลานอย่าลอกเลียนแบบการทำไวรอลดังกล่าวโดยเด็ดขาด เพราะยาเบนาดริล (Benadryl) หรือชื่อสามัญทางยาคือ ไดเฟนไฮดรามีน เป็นยาแก้แพ้ที่ใช้ในการบรรเทาอาการโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจส่วนบนและอาการหวัด เช่น น้ำมูกไหลและจาม จัดเป็นยาอันตราย ต้องสั่งจ่ายยาโดยแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น หากรับประทานเกินขนาดอาจเกิดความผิดปกติทางหัวใจ หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง หัวใจหยุดเต้น และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
ทั้งนี้ ในประเทศไทยมีการขึ้นทะเบียนตำรับยาที่มีไดเฟนไฮดรามีนเป็นส่วนประกอบในรูปแบบยารับประทาน จำนวน 43 ทะเบียน เป็นยาน้ำ จำนวน 35 ทะเบียน และเป็นยาเม็ดและแคปซูล จำนวน 8 ทะเบียน ขนาดที่แนะนำให้รับประทานคือ ในเด็กครั้งละ ½-1 ช้อนชา ทุก 4-6 ชั่วโมง สูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน ในผู้ใหญ่ครั้งละ 1-2 เม็ด/แคปซูล ทุก 4-6 ชั่วโมง สูงสุดไม่เกิน 400 มิลลิกรัมต่อวัน โดยต้องสั่งจ่ายยาโดยแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น และร้านขายยาจะต้องจัดทำบัญชีการขายยาเพื่อป้องกันการนำยาไปใช้ในทางที่ผิดด้วย.
https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/1949166