คืบหน้าวัคซีนกันโควิด ทั่วโลกมี 11 ตัวทดลองในคน
เมื่อวันที่ 3 พ.ย. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงความคืบหน้าการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด -19 ว่า ขณะนี้มี 88 บริษัทอยู่ในขั้นการทดลองในสัตว์ทดลอง เพื่อดูว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้หรือไม่ ส่วนที่อยู่ในขั้นการทดลองในคนระยะที่ 1 เพื่อดูเรื่องความปลอดภัย 35 บริษัท การทดลองในคนระยะที่ 2 จำนวน 14 บริษัท และมี 11 บริษัทที่อยู่ระหว่างทดลองในคนระยะที่ 3 เพื่อดูประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ซึ่งต้องใช้กลุ่มทดลองจำนวนหลักหมื่นคน และบางครั้งแม้อยู่ในการทดลองระยะที่ 3 แต่อาจจะมีการอนุโลมให้ใช้ในบางพื้นที่มีความจำเป็นก็ได้ ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 6 บริษัทที่มีการอนุโลมใช้ แต่ยังไม่มีตัวใดที่ได้รับการรับรองให้มีการใช้ได้จริง นอกจากนี้ ใน 11 ตัว มี 1 ตัว ที่เป็นวัคซีนเข็มเดียว ที่เหลือเป็นวัคซีน 2 เข็ม
นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าวัคซีน 11 ตัว ที่อยู่ในขั้นทดลองในคนระยะที่ 3 ดังนี้ 1. วัคซีนของสหรัฐอเมริกา ใช้วิธีใหม่ mRNA เริ่มศึกษาระยะ 3 เมื่อเดือนก.ค. และศึกษาครบ 3 หมื่นราย ไปเมื่อปลายเดือนต.ค.2563 อยู่ระหว่างติดตามความเสี่ยงในการติดเชื้อฯ แต่อาจขอใช้แบบฉุกเฉินปลายปีนี้ 2.วัคซีนร่วมเยอรมนี สหรัฐฯ และจีน ใช้วิธี mRNA ในคน 4.3 หมื่นรายเมื่อเดือนต.ค. กำลังรอดูประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อ คาดว่าจะผลิตได้เพียงพอต่อประชากรโลกในปลายปี 2564
3. วัคซีนของจีน ใช้เทคนิคที่เรียกว่า Adenovirus เริ่มศึกษาระยะที่ 3 เมื่อเดือนส.ค. ศึกษาในซาอุดิอาระเบีย ปากีสถาน และรัสเซีย 4.วัคซีนของรัสเซีย โดยสถาบันวิจัย Gamaleya ใช้ Adenovirus 2 ตัว เป็นตัวนำเชื้อ มีชื่อว่า Sputnik V 5. วัคซีนสหรัฐอเมริกา ของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เป็นวัคซีนเข็มเดียว แต่ก็มีภาวะแทรกซ้อนในกลุ่มทดลอง 1 รายจึงหยุดไป 11 วัน ขณะนี้มาทดลองอีกครั้ง คาดว่าน่าจะเสร็จปลายปีนี้ และผลิตได้ 1 พันล้านโดสในปี 2564
6. วัคซีนร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด และแอสตราซิเนกา ซึ่งไทยร่วมด้วย โดยได้มีการศึกษาระยะที่ 3 จำนวน 3 หมื่นราย ในบราซิล อเมริกาใต้ และสหรัฐ โดยเกิดการสะดุด 3 ครั้ง โดยเฉพาะครั้งที่ 2-3 เกิดภาวะแทรกซ้อน โดยมี 1 ราย เกิดการอักเสบของไขสันหลัง และเสียชีวิต 1 รายในประเทศบราซิล ก่อนจะกลับมาศึกษาอีกครั้งในวันที่ 23 ต.ค. ที่ผ่านมา 7. วัคซีนของสหรัฐฯ ศึกษาในระยะ 3 จำนวน 1.5 หมื่นราย ผลการศึกษาน่าจะเสร็จต้นปีหน้า 8. วัคซีนจีนในอู่ฮั่น โดยการนำเชื้อโควิด-19 มาทำให้อ่อนแรง ขณะนี้มีการอนุโลมฉีดแบบฉุกเฉินกับกลุ่มบุคลากรการแพทย์ที่อาหรับเอมิเรต จนถึงวันนี้ยังไม่มีผลกระทบเชิงลบจากวัคซีนนี้
9. วัคซีนของจีนในปักกิ่ง ได้อนุมัติฉีดแบบฉุกเฉินในบุคลากรสาธารณสุขในอาหรับเอมิเรสต์เช่นกัน 10. วัคซีนของอินเดีย เพิ่งเข้าสู่ระยะ 3 เมื่อเดือนต.ค. และ 11. เป็นของประเทศจีน โดยบริษัท Sinovac Biotech ผลิตวัคซีนชื่อ Coronavac ใช้เชื้อ Coronavirus ที่อ่อนแรงหรือตาย โดยได้ทดลองเฟส 3 ในบราซิล อินโดฯ และตูรกี มีการศึกษาในเด็ก และวันที่ 19 ต.ค.63 บราซิลประกาศว่า เป็นวัคซีนที่ปลอดภัยที่สุดในวัคซีน 5 ตัวที่ทำการศึกษาเฟส 3 และเมื่อ ต.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนอนุมัติให้ฉีดวัคซีนนี้แก่บุคลากรที่ทำงานเสี่ยงต่อการติดเชื้อ รวมทั้งบุคลาการที่ดูแลด้านสุขภาพ ทำงานให้บริการสาธารณะในเมือง Jiaxing อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าจะเร่งผลิตวัคซีนให้ประชาคมโลก เบื้องต้นจะผลิต 40 ล้านโดส ให้อินโดฯ ภายในเดือน มี.ค.64 และภายในต้นปีจะผลิตออกสู่โลก
“สรุปเรื่องวัคซีนได้ว่า มีเพียง 7% เท่านั้นของวัคซีนที่ทดลองในสัตว์จะประสบความสำเร็จในคน วัคซีนที่ผ่านเข้าสู่การศึกษาในคน ประสบความสำเร็จเพียง 20% วัคซีนที่ผ่านการศึกษาในคนระยะที่ 3 อาจประสบความสำเร็จในการใช้จริงเพียง 50% แต่ละคนอาจตอบสนองต่อการฉีดวัคซีนไม่เหมือนกัน ดังนั้น วัคซีนจะผลิตได้ไม่น่าเร็วไปกว่ากลางปีหน้า ดังนั้นเร็วที่สุดคือการป้องกันตัวเอง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง เช็คอินเช็คเอ้าท์ไทยชนะ เราทำดีมาตลอด ต้องทำต่อเนื่อง หากเราอยากเห็นเศรษฐกิจดำเนินการไปได้ พวกเราต้องช่วยกัน หากเราทำแบบเดิม เราก็ยังใช้ชีวิตนอกบ้านได้ แต่หากไม่ช่วยกันหมด ก็จะเกิดเหตุการณ์เหมือนในบางประเทศในยุโรป ที่ต้องปิดประเทศซึ่งจะกระทบเศรษฐกิจ ดังนั้นต้องช่วยกันวันนี้เราชะล่าใจมากเกินไปแล้ว ความเสี่ยงมาจ่อชายแดนเราแล้ว” นพ.ประสิทธิ์ กล่าว.
... อ่านต่อที่ : https://www.dailynews.co.th/politics/804781