ส่องวัคซีนต้านโควิด-19 ของจีน คืบหน้าไปแค่ไหน?

  • จีนเป็นประเทศแรกๆ ที่เริ่มคิดค้นวัคซีนต้านโควิด-19 และมีการนำวัคซีนมาใช้อย่างกว้างขวาง แม้การทดลองในเฟส 3 จะยังไม่แล้วเสร็จ 
  • ปัจจุบันจีนมีวัคซีนต้านโควิด-19 ต้นแบบ 4 ตัว ที่ทางการจีนอนุมัติให้ใช้ได้ในกรณีฉุกเฉินกับบุคลากรที่จำเป็น และกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง
  • วัคซีนต้านโควิด-19 จากจีน เป็นวัคซีนเชื้อตาย ที่ผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อโรคที่ตายแล้ว เพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยไม่มีความเสี่ยงต่อโรค ซึ่งเป็นวิธีการผลิตวัคซีนของหลายๆ โรคมาตั้งแต่ดั้งเดิม

ในขณะที่บริษัททั่วโลกต่างแข่งขันในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 จนมีหลายชาติเริ่มอนุมัติใช้วัคซีนต้านโควิดกันไปบ้างแล้ว แต่ข่าวคราวของวัคซีนต้านโควิด-19 จากจีน ซึ่งเป็นชาติที่พบการระบาดเป็นชาติแรก อาจจะยังไม่มีการเปิดเผยออกมามากนัก นอกจากความคืบหน้าว่ากำลังทดลองในเฟส 3


รู้จักกับวัคซีนต้านโควิด-19 จากจีน

จนถึงขณะนี้มีวัคซีนต้นแบบ 4 ตัว ที่จีนอนุมัติให้ใช้ได้ในกรณีฉุกเฉินกับบุคลากรที่จำเป็น หรือกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงต่างๆ แม้ว่าการทดสอบทางคลินิกเพื่อพิสูจน์ความปลอดภัยและประสิทธิภาพยังไม่เสร็จสมบูรณ์ก็ตาม โดยวัคซีนโควิด-19 ของจีนทั้ง 4 ตัว ที่นำมาใช้ในวงจำกัดอยู่ในช่วงการทดสอบทางคลินิกในมนุษย์เฟส 3 ประกอบด้วย วัคซีนโควิด-19 ของบริษัทซิโนฟาร์ม ที่พัฒนาร่วมกับสถาบันผลิตภัณฑ์ชีวภาพอู่ฮั่น วัคซีนโควิด-19 ของบริษัทซิโนฟาร์มที่พัฒนาร่วมกับสถาบันผลิตภัณฑ์ชีวภาพปักกิ่ง ซึ่งถูกนำไปใช้กับชาวจีนแล้วเกือบ 1 ล้านคนในกรณีฉุกเฉิน โดยยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลการทดลองในเฟสสาม วัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแคนซิโน ไบโอโลจิกส์ บริษัทในเครือกองทัพจีน ที่นำวัคซีนไปใช้อย่างจำกัดในกองทัพจีน และโคโรนาแวค วัคซีนโควิด-19 ของบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค ซึ่งถูกนำไปใช้ในกรณีฉุกเฉินเช่นกัน และเบื้องต้นยังไม่มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรงจากผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ในกรณีฉุกเฉิน ขณะที่สถาบันชีวการแพทย์บูทันทันของบราซิล ที่ทดลองวัคซีนโคโรนาแวคเฟส 3 ในประเทศ เตรียมเปิดเผยผลการทดลองในช่วงกลางเดือนนี้

ความแตกต่างระหว่างวัคซีนของซิโนแวค และวัคซีนของชาติอื่น

โคโรนาแวค เป็นวัคซีนเชื้อตายที่ผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อโรคที่ตายแล้ว เพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายโดยไม่มีความเสี่ยงต่อโรค ซึ่งเป็นวิธีการผลิตวัคซีนของหลายๆ โรคมาตั้งแต่ดั้งเดิม ขณะที่วัคซีนของค่ายโมเดอร์นา และไฟเซอร์ ของสหรัฐฯ เป็นวัคซีน MRNA ที่ผลิตจากสารพันธุกรรมของไวรัสโรคโควิด-19 เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย จะกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันของผู้รับวัคซีนสร้างแอนติบอดีที่ใช้ต่อสู้กับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการใช้วัคซีนชนิดนี้ โดยจุดแข็งของวัคซีนโคโรนาแวคก็คือ สามารถเก็บรักษาในอุณหภูมิระดับเดียวกับตู้เย็นธรรมดาที่ 2-8 องศาเซลเซียสได้ เหมือนกับวัคซีนแอสตราเซเนการ่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

ขณะที่วัคซีนของโมเดอร์นา ต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิต่ำกว่า ลบ 20 องศาเซลเซียส และวัคซีนของไฟเซอร์ต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิต่ำกว่า ลบ 70 องศาเซลเซียส ซึ่งนี่เป็นจุดแข็งที่ทำให้วัคซีนต้านโควิด-19 จากจีน และแอสตราเซเนกา-ออกซ์ฟอร์ดจะมีความเหมาะสมกับประเทศกำลังพัฒนา ที่ไม่มีศักยภาพในการเก็บวัคซีนปริมาณมากในอุณหภูมิติดลบเช่นนั้น

 

ประสิทธิภาพวัคซีนของบริษัทซิโนแวค


แม้ว่าจนถึงขณะนี้อาจจะยังเป็นการยากที่จะระบุประสิทธิภาพที่แน่ชัดของวัคซีนจากจีนได้ เนื่องจากข้อมูลล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสารแลนเซ็ทมีข้อมูลการทดลองเพียงเฟส 1 และเฟส 2 เท่านั้น แต่ในปัจจุบันมีประชาชนมากกว่า 24,000 ราย เข้าร่วมการทดลองทางคลินิกสำหรับการฉีดวัคซีนโคโรนาแวคในประเทศบราซิล ตุรกี และอินโดนีเซีย และคาดว่าจะมีการทดลองเพิ่มในบังกลาเทศและชิลี

โดยซิโนแวคเลือกทำการทดลองในประเทศดังกล่าว เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่รุนแรง มีประชากรจำนวนมาก และมีขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนาที่จำกัด และแม้ว่าการทดลองวัคซีนในบราซิลจะต้องหยุดชะงักไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังมีรายงานอาสาสมัครเสียชีวิต แต่การทดลองก็เดินหน้าต่อหลังจากไม่พบว่าการเสียชีวิตดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับวัคซีน โดยประสิทธิภาพที่แน่ชัดของวัคซีนจะยืนยันได้ก็ต่อเมื่อการทดลองเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว

ความสามารถในการผลิตวัคซีนจากซิโนแวค

ปัจจุบันซิโนแวคสามารถผลิตวัคซีนได้ราว 300 ล้านโดส ใน 1 ปี จากโรงงานที่สร้างใหม่ในพื้นที่ 20,000 ตารางเมตร โดยหากคำนวณการใช้งานวัคซีนจำนวน 2 โดสต่อคน ก็จะสามารถผลิตวัคซีนให้แก่ประชากร 150 ล้านคนต่อปี ซึ่งคิดเป็นเพียงราว 1 ใน 10 ของประชากรจีนเท่านั้น โดยตอนนี้มีการส่งวัคซีนให้แก่อินโดนีเซียเพื่อเตรียมแจกจ่ายให้ประชาชนจำนวน 1 ล้าน 2 แสนโดส เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา ส่วนอีก 1 ล้าน 8 แสนโดส จะส่งถึงอินโดนีเซียในเดือนมกราคม และปัจจุบันซิโนแวคได้ทำสัญญาจัดหาวัคซีนโคโรนาแวคให้กับหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ตุรกี บราซิล ชิลี และกำลังเจรจากับฟิลิปปินส์ด้วย

สำหรับราคาของวัคซีนโคโรนาแวคยังคงไม่มีการระบุแน่ชัด แต่ราคาวัคซีนที่ใช้ฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์จีนอยู่ที่เฉลี่ย 1,800 บาท ซึ่งนับว่ายังมีราคาแพงว่าวัคซีนของออกซ์ฟอร์ด ที่อยู่ที่ราวโดสละ 120 บาทเท่านั้น ขณะที่วัคซีนจากโมเดอร์นาราคาจะอยู่ที่โดสละเกือบ 1,000 บาท โดยบริษัทโมเดอร์นาจะสามารถผลิตวัคซีนได้ราว 500 ล้านโดสในปีหน้า ขณะที่แอสตราเซเนกาจะผลิตวัคซีนได้ราว 700 ล้านโดสภายในสิ้นไตรมาสแรกของปีหน้า.

https://www.thairath.co.th/news/foreign/1994885