กินอาหารมีไขมันอิ่มตัวสูงแค่มื้อเดียว ทำให้ความตั้งใจจดจ่อมีสมาธิลดลงได้
อาหารอุดมไขมันแม้จะมีรสชาติอร่อยถูกปาก แต่ส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายหลายเรื่องในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งของกินที่มีไขมันอิ่มตัว (saturated fat) ในปริมาณสูง ซึ่งล่าสุดมีการศึกษาวิจัยพบว่า การกินอาหารประเภทนี้แม้เพียงมื้อเดียว ยังส่งผลให้ความสามารถในการตั้งใจจดจ่อเป็นสมาธิลดลงอย่างมากด้วย
ทีมนักวิจัยด้านจิตวิทยาคลินิกจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตต (OSU) ของสหรัฐฯ ตีพิมพ์ผลการศึกษาข้างต้นลงในวารสาร "โภชนาการทางคลินิกอเมริกัน" (The American Journal of Clinical Nutrition) โดยระบุว่าผลของการบริโภคอาหารอุดมไขมันในระยะสั้น เช่นภาวะบางอย่างที่เกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจหลังการกินอาหารไขมันสูงเพียงมื้อเดียว ยังไม่เคยได้รับความสนใจศึกษาในเชิงลึกกันมาก่อน
ทีมผู้วิจัยจึงทำการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างหญิง 51 คน โดยให้ทำแบบทดสอบวัดความสามารถในการตั้งใจจดจ่อเป็นสมาธินาน 10 นาที หลังได้รับประทานอาหารไขมันสูงเข้าไปแล้ว 5 ชั่วโมง โดยเปรียบเทียบผลคะแนนจากการทำแบบทดสอบหลังกินอาหารที่ปรุงด้วยไขมันอิ่มตัว กับผลคะแนนหลังกินอาหารชนิดเดียวกันที่ปรุงด้วยน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวันซึ่งเป็นไขมันชนิดไม่อิ่มตัว
การทดลองเริ่มต้นขึ้นในตอนเช้า โดยกลุ่มตัวอย่างซึ่งอดอาหารและน้ำมาเป็นเวลา 12 ชั่วโมง จะทำแบบทดสอบวัดระดับความมีสมาธิในขั้นพื้นฐานของแต่ละคนเสียก่อน จากนั้นจะกินอาหารที่ปรุงด้วยไขมันชนิดใดชนิดหนึ่งและลงมือทำแบบทดสอบอีกครั้ง กระบวนการทั้งหมดจะถูกทำซ้ำใหม่เมื่ออาสาสมัครกลับมาในสัปดาห์ถัดไป แต่จะเปลี่ยนชนิดอาหารที่ให้รับประทานเป็นไขมันชนิดตรงข้าม
ผลปรากฏว่ากลุ่มตัวอย่างทั้งหมดทำคะแนนได้ย่ำแย่ลงอย่างมาก หลังรับประทานอาหารที่ปรุงด้วยไขมันอิ่มตัวในปริมาณสูงเข้าไป โดยกลุ่มตัวอย่างมีความสามารถในการตั้งใจจดจ่อและติดตามสิ่งเร้าในแบบทดสอบลดลงโดยเฉลี่ย 11%
แม้ทีมผู้วิจัยจะไม่ได้ตรวจสอบหาความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสมองหลังกินอาหารไขมันอิ่มตัวสูง แต่ ดร.อันเนลีส แมดิสัน ผู้นำทีมวิจัยบอกว่า ไขมันอิ่มตัวอาจทำให้เกิดภาวะอักเสบสูงขึ้นทั่วร่างกายรวมไปถึงสมอง ซึ่งกรดไขมันอิ่มตัวอาจข้ามส่วนเชื่อมต่อที่กั้นระหว่างกระแสเลือดกับเซลล์สมอง (blood-brain barrier) เข้าไปมีปฏิกิริยาโดยตรงบางอย่างกับเซลล์สมองได้
ทีมผู้วิจัยยังพบว่าภาวะที่ความสามารถในการมีสมาธิตั้งมั่นลดลง เกิดขึ้นกับผู้ที่มีอาการลำไส้ดูดซึมผิดปกติหรือลำไส้รั่ว (leaky gut) อีกด้วย โดยในกรณีนี้แบคทีเรียในลำไส้และโมเลกุลของสารพิษบางอย่างอาจหลุดลอดเข้าไปในกระแสเลือด และทำให้เกิดผลกระทบต่อสมองได้