ดึงร้านขายยาช่วยคุมโควิด
ปรับแผนใหม่ ฝากตัวกับ "ร้านขายยา" สปสช.เตรียมใช้เป็นกลไก แจก ATK 8.5 ล้านชุด ติดตามอาการ จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ถ้าผลตรวจบวก ขณะที่รองอธิบดีกรมควบคุมโรคเผยแอสตร้าเซนเนก้าแจ้งส่งวัคซีนให้ไทยเดือนส.ค. 5.4 ล้านโดส
เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยในที่ประชุมชี้แจงแนวทางการจ่ายชุดตรวจโควิด Antigen Test Kit (ATK) ให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงสำหรับร้านยาแผนปัจจุบันประเภท 1 และคลินิกพยาบาล เมื่อวันที่ 6 ส.ค.2564 ตอนหนึ่งว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้มีมติให้ สปสช.ดำเนินการจัดหาชุดตรวจโควิด Antigen test kit (ATK) จำนวน 8.5 ล้านชุด แจกให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงสามารถตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ด้วยเอง ในช่วงเดือน ส.ค.- ก.ย.นี้
“หลังสิ้นสุดเดือน ก.ย. ก็จะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้ง หากมีความจำเป็นจะต้องซื้อเพิ่ม สปสช.ก็จะดำเนินการ” นพ.จเด็จกล่าว
นพ.จเด็จกล่าวต่อไปว่า คาดว่าสถานการณ์โควิด-19 ในปีงบประมาณหน้าจะยังมีความรุนแรง ฉะนั้นชุดตรวจโควิด ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด จึงเป็นประเด็นสำคัญ โจทย์คือจะทำอย่างไรให้ชุดตรวจเหล่านั้นกระจายถึงมือประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้รวดเร็วและกว้างขวางที่สุด เพื่อลดอุปสรรคในการเข้าถึงบริการของประชาชน
นอกจากนี้ สปสช.ถือโอกาสขอความร่วมมือ ชักชวนร้านขายยาเป็นหน่วยกระจายชุดตรวจโควิด ATK เนื่องจากร้านขายยาทั่วประเทศที่ขึ้นทะเบียนอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน (ขย.1) นั้นมีจำนวนมาก และน่าจะมีบุคลากรที่คอยแนะนำการตรวจให้กับประชาชนได้ ในกรณีตรวจแล้วพบว่าติดเชื้อหรือผลเป็นบวกก็จะขอความร่วมมือให้ร้านขายยาเป็นกลไกในการให้คำแนะนำในการดูแล หรือส่งต่อเข้าสู่กระบวนการรักษาด้วยวิธี Home isolation (HI)
ทั้งนี้ บอร์ด สปสช.ยังมีมติมอบให้ สปสช.จัดหายาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์เพิ่มเติม ซึ่งถ้าตามข่าวในขณะนี้จะพบว่าผู้ป่วยโควิดจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงยา ด้วยเหตุที่ว่าหน่วยบริการที่ช่วยดำเนินการอาจจะยังน้อยเกินไป หรือระบบการกระจายยายังไม่มีประสิทธิภาพ
“อันนี้เป็นแนวคิดต่อเนื่องว่าถ้าประสบความสำเร็จ เราอาจจะขยายไปสู่การเป็นจุดกระจายยาที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยโควิด ถ้าร้านขายยาทั่วประเทศร่วมมือกันก็อาจจะขยายไปสู่การให้ยาผู้ป่วยในบางส่วนได้ หรือถ้าไกลกว่านั้น ก็อาจจะขอให้ร้านขายยามาช่วยทำ Home Isolation ในบทบาทที่ร้านขายยาสามารถทำได้ แต่ทั้งหมดนี้ขอเริ่มที่ชุดตรวจ ATK ก่อน” นพ.จเด็จกล่าว
ด้าน ผศ.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ ผู้แทนนายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า สิ่งที่อยากจะแนะนำคือ สปสช. น่าจะต้องมีรายชื่อ เว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน ที่มีรายชื่อร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด ประกอบด้วย ชื่อร้าน สถานที่ตั้ง และเบอร์ติดต่อ ส่วนตัวคิดว่าหากมีแอป จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถพูดคุยโดยตรงกับร้านขายยาเพื่อลดการเดินทางของประชาชนกลุ่มเสี่ยง
นอกจากนี้ เมื่อผู้ป่วยได้รับชุดตรวจ ATK แล้วอาจจะต้องศึกษาวิธีการใช้ผ่านวิดีโอ หรือเอกสารกำกับการใช้งาน ซึ่งอาจจะต้องเฉพาะเจาะจงกับชุดตรวจที่ประชาชนได้ไป เนื่องจากชุดตรวจแต่ละชุดอาจจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน เมื่อผู้ป่วยตรวจเชื้อแล้วก็อาจจะแนะนำให้ส่งเป็นรูป และแจ้งผลการตรวจมาที่ร้านขายยา โดยร้านขายยาก็จะแปลผลและอธิบายเพื่อชี้แจงให้กับผู้ป่วย
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้ป่วยมีผลเป็นบวกและสามารถเข้ารับการรักษาในระบบ Home Isolation ร้านขายยาสามารถดูแลให้คำปรึกษาและติดตามอาการ ตรงนี้ก็จะเป็นบริการที่จะสามารถช่วยผู้ป่วยได้ เพราะผู้ป่วยโควิด-19 หลายรายไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยมาก ซึ่งก็สามารถดูแลตัวเองได้
“ตอนนี้มีผู้ป่วยหลายรายที่มีผลเป็นบวก และเภสัชกรเองก็ได้มีการโทร. หรือติดตามอาการผ่านไลน์เป็นระยะ ทำให้ผู้ป่วยก็จะสบายใจขึ้น และเข้าใจว่าไม่จำเป็นต้องเข้าสู่ระบบถ้ายังสามารถดูแลตัวเองได้ ในกรณีที่สะดวกจะกักตัวบ้าน” ผศ.รุ่งเพ็ชรกล่าว
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลได้จัดสรรและกระจายชุดตรวจ Antigen Test Kit ซึ่งรัฐบาลไทยได้รับจากสมาพันธรัฐสวิส จำนวน 1.1 ล้านชุด เพื่อใช้ประโยชน์ตามความเหมาะสมแล้ว โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้กระจายชุดตรวจ ATK ซึ่งได้รับจากสมาพันธรัฐสวิส ตามความจำเป็นเร่งด่วน อย่างทั่วถึง เป็นธรรม ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้จัดสรรไปยังจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด ตามจำนวนผู้ป่วยและความเหมาะสมแล้ว ดังนี้ กรุงเทพมหานครจำนวน 200,000 ชุด, นนทบุรี ปทุมธานี จังหวัดละ 75,000 ชุด, อยุธยา สมุทรสาคร นครปฐม ชลบุรี สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา จังหวัดละ 70,000 ชุด, 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา จังหวัดละ 45,000 ชุด และสำรองที่กระทรวงสาธารณสุขจำนวน 150,000 ชุด
โฆษกรัฐบาลเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ได้รับมอบจากสมาพันธรัฐสวิส และได้แจกจ่ายแล้วนี้ จะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้ไทยสามารถควบคุมจำกัดวงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในส่วนของเครื่องช่วยหายใจ จำนวน 102 เครื่อง ที่ได้รับมอบจากสมาพันธรัฐสวิส ในโอกาสเดียวกันนี้ จะได้แจกจ่ายตามความเหมาะสมต่อไป
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงป้องกันโควิด-19 ว่า ในเดือน ส.ค.นี้ ทางบริษัท แอสตร้าเซนเนก้าฯ แจ้งมาว่าส่งวัคซีนมาให้ไทยได้ จำนวน 5.4 ล้านโดส ซึ่งใกล้เคียงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา จำนวน 5.3 ล้านโดส ทางกระทรวงสาธารณสุขยังแนะนำ สูตรการฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ ฉีดวัคซีนซิโนแวค เข็ม 1 แล้วเว้นไป 3 สัปดาห์ จึงฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็ม 2 แล้วประมาณใน 2 สัปดาห์ ภูมิจะขึ้นสูง ใช้ป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้ดี
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น และการปรับการรักษาให้ยารักษาโควิด-19 ฟาวิพิราเวียร์เร็วขึ้น ทำให้จำนวนการใช้ยารักษาโควิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลล่าสุดจนถึงวันที่ 4 ส.ค.2564 มีความต้องการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ วันละ 8.5 แสนเม็ดต่อวัน ได้จัดสรรลงพื้นที่ทั่วประเทศตั้งแต่ 7 ก.ค. ถึง 4 ส.ค.ไปแล้ว จำนวน 20.5 ล้านเม็ด ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้มอบให้องค์การเภสัชกรรมจัดหายาเพิ่มเติม เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเกิดความมั่นใจ และช่วยชีวิตคนป่วยได้ทันท่วงที โดยใน 3 เดือนนี้ตั้งแต่ ต.ค.-ธ.ค.2564 ให้จัดหาเพิ่มขึ้นอีก 300 ล้านเม็ด (เดือนละ 100 ล้านเม็ด) โดยเฉพาะเดือน ส.ค.-ก.ย.ให้จัดหา 120 ล้านเม็ด สำหรับยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ให้จัดหาเพิ่มอีก 1 แสนขวด รวมเป็น 2 แสนขวดภายในเดือน ส.ค.นี้ ให้เพียงพอตามเกณฑ์การรักษาใหม่เพื่อกระจายให้ทุกจังหวัด
สำหรับเวชภัณฑ์ที่ใช้ประจำ อาทิ หน้ากาก N 95 หน้ากากอนามัย ชุดกาวน์ ถุงมือ ถุงเท้า รองเท้า หมวกคลุมผม กว่า 11 รายการ จากข้อมูลมีการใช้เวชภัณฑ์ในแต่ละเดือนมากที่สุดจากทั่วประเทศ เช่น ถุงมือยาง (disposable glove) มีการใช้กว่า 19 ล้านคู่ รองลงมา หน้ากากอนามัย (surgical mask) กว่า 16 ล้านชิ้น, หมวกคลุมผม (Disposable cap) 3 ล้านชิ้น, ชุดกาวน์ (Coverall & gown) 1.6 ล้านชุด เป็นต้น มีการคาดการณ์การใช้งานเพื่อสำรองให้เพียงพอในการใช้แต่ละเดือน โดยจัดซื้อด้วยงบกลางและงบเงินกู้ มีการจัดสรรไปยังภูมิภาคทุกสัปดาห์ หากพื้นที่ใดไม่เพียงพอ สามารถประสานขอสนับสนุนเวชภัณฑ์เร่งด่วนได้ที่กองบริหารการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
https://www.thaipost.net/main/detail/112542