ตลาดร้านขายยาวูบ 8 พันล้านบาทเซ่นพิษโควิด-19 ปรับธุรกิจรับเทรนด์เทเลฟาร์มาซี New Normal

ตลาดร้านขายยาครึ่งปีแรกวูบกว่า 8 พันล้านบาทอันเป็นผลจากพิษการระบาดของโควิด-19 “อรินแคร์”ชูธงนวัตกรรมเพื่อเพิ่มรายได้ให้ร้านขายยา ขานรับเทรนด์เทเลฟาร์มาซีสำหรับร้านขายยาชุมชน รับ New Normal

อรินแคร์ร่วมกับไทยสมุทรประกันชีวิต และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) จัดงานสัมนาออนไลน์ในประเด็น “The Day After Tomorrow - ตลาดร้านยาไทยในครึ่งปีหลัง 2563” โดยภายในงานได้มีแขกรับเชิญผู้ประกอบการร้านขายยาศิริเวช และทางอรินแคร์ยังได้มีการเปิดผลงานวิจัยตลาดร้านยาไทยในครึ่งปีแรกของปี 2563 โดยผลการสำรวจของอรินแคร์เน้นย้ำถึงผลกระทบของโควิด-19 ต่ออุตสาหกรรมร้านขายยา ซึ่งในช่วง 5 เดือนแรกของปีนั้นยอดขายลดลงทำให้เม็ดเงินหายไปจากตลาดมากกว่า 8 พันล้านบาท ลดลงโดยเฉลี่ย 45% จากที่คาดการณ์เติบโตครึ่งปีแรกของปีนี้ โดยเฉพาะกลุ่มร้านขายยาที่กระทบหนักในพื้นที่ที่เศรษฐกิจนั้นพึ่งพาการท่องเที่ยวและการค้าขายกับต่างชาติ เช่นพื้นที่ชายแดนเป็นหลัก

ขณะเดียวกันตลาดร้านยาและสินค้าสุขภาพนั้นยังถือว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่ยังได้รับผลกระทบน้อยกว่าธุรกิจอื่นๆมาก ดังที่เราได้เห็นธุรกิจการท่องเที่ยวที่หายไปถึง 100% หรือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก

ทั้งนี้นอกเหนือจากการเร่งปรับตัวในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 เรื่องของการให้บริการเภสัชกรรมทางไกล หรือเทเลฟาร์มาซี telepharmacy นั้นก็เป็นอีกเทรนด์ที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อสภาเภสัชกรรมได้มีการนำเสนอมาตรฐานและขั้นตอนการให้บริการเทเลฟาร์มาซี เมื่อวันอังคารที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมาหลังจากได้มีการนำเสนอประกาศสภาเภสัชกรรม เรื่องการกำหนดมาตรฐานและขั้นตอนการให้บริการเภสัชกรรมทางไกล เพื่อเป็นแนวทางแก่เภสัชกรและพร้อมเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากเภสัชกรทั่วประเทศ ซึ่งการประกาศมาตรฐานนี้เป็นโครงการที่ต่อเนื่องจากโครงการรับยาใกล้บ้าน ที่กระทรวงสาธารณสุขได้มีการนำมาเริ่มต้นใช้ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมในปีที่แล้ว อีกทั้งยังเป็นมาตรการที่สอดรับกับการระบาดของโรคโควิด-19 อันมีผลให้ประชาชนไม่สามารถเข้ารับบริการด้านเภสัชกรรมจากโรงพยาบาลและร้านขายยาได้สะดวก

โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคาดว่าเทเลฟาร์มาซีจะมาช่วยตอบโจทย์ระบบสาธารณสุขในยุค New Normal เพื่อให้บริการด้านยากับประชาชนได้ทั่วถึงมากขึ้น รวมถึงเป็นการรับลูกต่อจากเทรนด์การแพทย์ทางไกลหรือ เทเลเมดิซีน ซึ่งได้มีการเริ่มนำเข้ามาใช้กันอย่างแพร่หลายในช่วงการระบาดของโควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายของเชื้อ และยังเป็นการช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการด้านเภสัชกรรมได้สะดวกมากขึ้น บุคลากรทางการแพทย์ในแต่ละหน่วยงานทั้งโรงพยาบาล และร้านขายยาประสานงานกันในการดูแลคนไข้ได้ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามหนึ่งในคำถามคือการนำมาตรการนี้มาประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในกลุ่มเภสัชกรและร้านขายยาชุมชน โดยหนึ่งในความท้าทายที่เห็นได้ชัดจากโครงการรับยาใกล้บ้านคือการขาดเทคโนโลยีที่เป็นตัวช่วยเชื่อมประสานการทำงานในแต่ละหน่วยงานเข้าด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในปัจจุบันการเข้าถึงเทคโนโลยีของร้านขายยาชุมชนยังคงเป็นปัญหา ส่งผลให้การทำงานในแต่ละโครงการยังคงเป็นการบันทึกและส่งต่อข้อมูลด้วยกรอกเอกสารบนกระดาษเป็นหลัก

อรินแคร์ บริษัทสตาร์ทอัพ ผู้ให้บริการแพล็ตฟอร์มบริหารจัดการเภสัชกรรมครบวงจร ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยเภสัชกรและผู้ประกอบการร้านขายยา สามารถบริหารคลังยา จ่ายยา เก็บประวัติคนไข้ รวมถึงเชื่อมต่อกับโรงพยาบาลในการรับใบสั่งยาอิเล็กทรอนิคส์ หรือ e-Prescription จากแพทย์ เพื่อให้คนไข้รับยาได้ที่ร้านขายยาใกล้บ้าน ภายใต้แนวคิด “Digital Pharmacy Solution” ซึ่งในปัจจุบันมีเครือข่ายร้านขายยาทั่วประเทศครบทุกจังหวัด ได้นำเสนอโซลูชั่นนวัตกรรมที่สามารถตอบโจทย์เทรนด์เทเลเมดิซีนที่กำลังจะมาถึงนี้ได้อย่างลงตัว

 

ธีระ กนกกาญจนรัตน์ ประธานกรรมการและผู้ร่วมก่อตั้ง Arincare กล่าวว่ากระแสความนิยมของการให้บริการสาธารณสุขทางไกลหรือเทเลคอนซัลท์ (TeleConsult) นั้นได้เริ่มมีในต่างประเทศระยะหนึ่งแล้ว และยิ่งเห็นถึงความจำเป็นที่เด่นชัดมากยิ่งขึ้นหลังจากการระบาดของโควิด-19 แต่ปัจจัยความสำเร็จของการนำเทคโนโลยีหล่านี้มาใช้ให้เกิดขึ้นจริงคือ เทคโนโลยีที่เข้าถึงได้และใช้งานได้จริงและโครงการต่างๆที่จะช่วยสร้างรายได้และส่งเสริมบทบาทของร้านขายยา

“ความพิเศษของอรินแคร์คือเรามุ่งทำเรื่องเทเลฟาร์มาซี มาตลอดตั้งแต่วันที่เริ่ม โดยทีมงานของเราได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพเตรียมความพร้อม หรือ empower กลุ่มร้านขายยาและเภสัชกรชุมชนเป็นอันดับแรก เพราะถ้าพวกเขาเหล่านี้เข้าถึงเทคโนโลยีพื้นฐานที่จำเป็นแล้ว ก็จะสามารถเข้าถึงนวัตกรรมและต่อยอดโครงการต่างๆในการดูแลคนไข้ให้ดีขึ้นได้”

โดยเรื่องแรกคือนำเทคโนโลยีพื้นฐานให้เภสัชกรและร้านขายยาเพื่อช่วยในการบริหารจัดการข้อมูล เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และทำงานประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากนั้นอรินแคร์เราเริ่มทำระบบใบสั่งยาอิเล็กทรอนิคส์ (e-Prescription) เชื่อมต่อกับโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์สามารถส่งข้อมูลการจ่ายยาไปยังร้านขายยาใกล้บ้านคนไข้ และประสานงานกับเภสัชกรเพื่อดูแลผู้ป่วยต่อไป ในขณะเดียวกันทางร้านขายยาก็สามารถทำการส่งตัวคนไข้ผ่านระบบ e-Referral กลับไปให้ทางโรงพยาบาลได้ด้วย ซึ่งต่อจากนี้เราจะทยอยนำเสนอนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์เทเลฟาร์มาซีที่เรากำลังพัฒนาออกมาอีกตามมาตรฐานและข้อกำหนดของสภาเภสัชกรรม

 

นอกจากนี้เรายังมีการเชื่อมต่อระบบกับบริษัทประกันและผู้ให้บริการเทเลเมดิซิน เพื่อให้ร้านขายยาทำหน้าที่ห้องยาเสมือน (virtual pharmacy) ในการจ่ายยาให้กับคนไข้เพื่อการรักษาที่ต่อเนื่อง รวมถึง การทำแคมเปญร่วมกับ partner ของเราเช่น Sunday Care,DTAC และไทยสมุทรประกันชีวิตเพื่อช่วยเพิ่มลูกค้าสร้างรายได้ให้กับร้านขายยาอีกด้วย

ทั้งนี้เครือข่ายการให้บริการของอรินแคร์มีเภสัชกรมากกว่า 3 พันคนและร้านขายยาที่มีใบอนุญาตกว่า 1,700 รายทั่วประเทศ ซึ่งถ้าได้รับการส่งเสริมและมีความร่วมมือกับสภาเภสัชกรรม ในอนาคตอันใกล้เราคงได้เห็น New Normal ของสาธารณสุขไทยที่ดียิ่งกว่า และเทเลฟาร์มาซีที่เกิดขึ้นจริงได้ในประเทศไทย

 https://siamrath.co.th/n/160653