กระชายขาวสกัด เป็นยาต้านไวรัส โควิด-19 ได้ดี 100%
นับตั้งแต่ในไทยมีการแพร่ระบาดโควิด-19 เกิดขึ้นมาเกือบครึ่งปี ที่ยังสามารถเฝ้าระวังป้องกันได้ดี จนทำให้มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ กลายเป็นศูนย์มาต่อเนื่อง แต่ตราบใดที่การพัฒนาวัคซีนป้องกันยังไม่สำเร็จ ก็ย่อมมีความเสี่ยง และโอกาสกลับมาระบาดใหม่ได้เสมอ...
สาเหตุมาจาก “ทั่วโลก” ยังคงเผชิญกับเชื้อไวรัสนี้ที่มีการแพร่ระบาดเพิ่มสูง จนยอดผู้ติดเชื้อสะสมทะลุราว 10 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตพุ่งขึ้นรวดเร็ว แม้ในบางประเทศควบคุมการระบาดโควิด-19 ได้แล้ว แต่กลับมาระบาดซ้ำอีก เพราะเกิดจากการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศกลับมาขับเคลื่อนได้
เช่นเดียวกับ “ประเทศไทย” ที่มีการผ่อนปรนกิจกรรม และกิจการ ในบางประเภทมีความเสี่ยงต่อการระบาดสูง ทำให้รัฐบาลเตรียมพร้อมหลายด้าน ทั้งยา เวชภัณฑ์ เครื่องช่วยหายใจ เตียงผู้ป่วยไอซียู และห้องแยกผู้ป่วยหนัก และผู้ป่วยทั่วไป
ในอีกมุม...หลายประเทศก็หันมาพัฒนา “วัคซีน” และ “ยารักษาโรค” ให้ได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ “ประเทศไทย” ก็มีความคืบหน้าในการทดลองวัคซีน และยารักษาโควิด-19 ที่เตรียมมีการทดสอบในคนได้เร็วๆนี้ นับว่าประสบความสำเร็จไปได้ดีไม่ใช่น้อย
การทดลองวัคซีน และยารักษาโควิด-19 นี้ ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หน.ศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล บอกว่า ในไทยไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันมากว่า 1 เดือน ถ้ามีการติดเชื้อก็อาจเป็นคนไม่แสดงอาการ ทำให้ไม่มีตัวเลขแน่ชัด
แต่หากนับตั้งแต่วันที่ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ มาจนถึงวันนี้อาจเป็นไปได้ยาก ที่จะมีเชื้อหลงเหลือให้กลับมาแพร่กระจายต่อคนอื่นได้ เพราะโควิด-19 สามารถอยู่ในคนมีร่างกายแข็งแรงไม่เกิน 2-3 สัปดาห์ และสุดท้ายร่างกายจะปรับตัวตามกลไก ทำให้การติดเชื้อโรคหายดีเป็นปกติ จนเชื้อถูกขับออกไปหมดสิ้น
ทำให้เชื่อได้ว่า “ในไทย” ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ยกเว้นมีการ “เปิดประเทศ” ลักษณะแบบไม่มีระบบกักกันที่ดี หรือ “การเปิดแบบเสรี” ที่อาจเป็นโอกาสให้ “คนนำพาเชื้อ” เข้ามาในประเทศได้อย่างเสรีเช่นกัน
แม้ว่า...มีระบบทราเวลบับเบิล ในการจับคู่ท่องเที่ยวระหว่างประเทศ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงของการนำเชื้อโควิด-19 เข้ามาประเทศเช่นเดิม เช่น มีการเจรจาตกลงกับประเทศจีน ที่มีความเสี่ยงต่ำของผู้ติดเชื้อทั่วประเทศหลัก 10 คน แต่ไม่ได้แปลว่า “ไม่มีผู้ติดเชื้อเลย” อาจส่งผลให้คนกลุ่มนี้นำเชื้อเข้ามาก็ได้
นั่นหมายความว่า...ตราบใดยังรับคนจากประเทศที่มีการติดเชื้ออยู่ ก็ย่อมมีความเสี่ยงเกิดการระบาดใหม่ได้เสมอ...ทำให้ต้องคำนึงถึง “ความสมดุล” ระหว่างเศรษฐกิจและความปลอดภัยควบคู่กันด้วย
ดังนั้น...“การผ่อนปรนกิจกรรม หรือการเปิดประเทศ” ต้องให้เป็นระบบขั้นตอน เริ่มจากการทดลองเปิดประเทศที่มีการกักตัว 10–14 วัน อย่างเช่นที่ทำกันอยู่ตอนนี้...“สเตต ควอรันธีน” ที่รัฐต้องกักตัวผู้เดินทาง จากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อออกไปใน วงกว้าง
เมื่อดำเนินการไปแล้ว ปรากฏว่า ไม่มีผู้ติดเชื้อก็ลดลงเหลือ 5-7 วัน ในระหว่างกักตัวนี้ต้องตรวจคัดกรองไปด้วย แต่หากไม่มีการกักตัว หรือคัดกรองเลยคงเป็นไปไม่ได้ เพราะเสี่ยงต่อการระบาดเกิดขึ้นในประเทศสูง
จริงๆ แล้ว...ในหลายประเทศก็มีมาตรการคัดกรองคนออกนอกประเทศอยู่แล้ว หากไม่มีการติดเชื้อโควิด-19 ก็จะอนุญาตให้ออกนอกประเทศได้ แต่ถ้า “ติดเชื้อ” ต้องถูกกักตัวเข้าสู่กระบวนการรักษาให้หายเป็นปกติ
สิ่งสำคัญ...แม้ว่ามีกระบวนการตรวจคัดกรองจากประเทศต้นทางอย่างดีแล้วก็ตาม ในระหว่างขึ้นเครื่องบินเดินทางเข้ามาถึงยังในไทย ก็ยังพบว่า มีผู้ติดเชื้ออยู่ตลอดเสมอ ทำให้มีความจำเป็นที่ต้อง “คงมาตรการกักตัวให้เป็นด่านสอง” ในการสแกนบุคคลหลุดรอดมาจากด่านแรก เพื่อให้ประเทศไทย มีความปลอดภัยมากที่สุด
เพราะอย่างน้อย...หากในไทย ไม่มีการติดเชื้อขึ้นเลย ก็ยังสามารถผ่อนปรนกิจกรรมและกิจการ ให้เศรษฐกิจในประเทศเกิดการหมุนเวียนกันเองได้
ประเด็น...“ยารักษาโควิด–19” ในปัจจุบันยัง “ไม่มียารักษาตรง” เพราะโควิด-19 เป็นไวรัสชนิดใหม่ ทำให้ไม่สามารถพัฒนาหายาจำเพาะได้สำเร็จ ที่ต้องอาจใช้เวลาวิจัยระยะหนึ่ง ส่วนการรักษากันอยู่ตอนนี้คือ “การใช้ยาเก่าที่รักษาไวรัสชนิดอื่น” นำมาทดลองใช้กับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้ผลดี จึงถูกนำมารักษากันจนมาถึงทุกวันนี้...
ย้ำว่า “ประเทศไทย” มีการนำยามารักษาผู้ป่วยอยู่ 2 ชนิดคือ...“ฟาวิพิราเวียร์” (favipiravir) ที่มีเก็บสต๊อกไว้ที่กระทรวงสาธารณสุข พร้อมใช้กับผู้ป่วยหลักพันคน ซึ่งยาชนิดนี้ค้นพบโดยใน “กลุ่มบริษัทฟูจิฟิล์ม” ในประเทศญี่ปุ่น ที่เคยใช้รักษาโรคไวรัสไข้หวัดใหญ่ และมีฤทธิ์ต้านโควิด-19 มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย
ยาชนิดที่สอง...“เรมเดสซิเวียร์” (remdesivir) ผลิตในสหรัฐอเมริกา เพื่อทดลองรักษาผู้ป่วยติดเชื้ออีโบลาที่เป็นยาฉีด เมื่อทดลองใช้ในผู้ป่วยอีโบลากลับไม่สำเร็จ แต่นำมาใช้ในผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 กลับได้ผลดี
ส่วนการพัฒนา “ยารักษาโควิด-19 ใหม่”...นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยทั่วโลก มีการศึกษายาสร้างขึ้นใหม่ และเป็นยาที่ได้จากการสกัดของสมุนไพรหลายชนิด แต่ยังไม่ปรากฏว่า...ยาชนิดใดได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
ในจำนวนนี้ก็มี “ประเทศไทย” มีความพยายาม “สกัดยา” ที่ได้จากสมุนไพรไทยเช่นกัน ตามข้อมูลงานวิจัยชัดเจนที่สุดคือ “การวิจัยสมุนไพรกระชายขาว” เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตโควิด-19 ได้ผลถึงร้อยเปอร์เซ็นต์
สาระสำคัญนี้มีอยู่ในตัวกระชายขาว 2 ตัวคือ แพนดูราทินเอ (Panduratin A) และพิโนสโตรบิน (Pinostrobin) เป็นตัวหลักทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสต้นเหตุของโควิด-19 ได้ ในการลดจำนวนเซลล์ที่ติดเชื้อร้อยเปอร์เซ็นต์ให้ได้เป็น 0% และยังยับยั้งเซลล์ในการผลิตไวรัสได้อีกด้วย
ความสำเร็จนี้เป็นผลงานของ “คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล” ที่ยังอยู่ในขั้นห้องปฏิบัติการ และกำลังนำมาทดสอบความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง และมนุษย์ คาดว่าจะใช้เวลา 1 ปี เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยต่อผู้บริโภคในอนาคต นับว่าเป็นข่าวดีของนักวิจัยไทยสามารถวิจัยสมุนไพรที่หาได้ง่ายในประเทศเอง
ย้อนไปก่อนหน้านี้...ในช่วงต้นการระบาดโควิด-19 ที่มีองค์กรต่างๆ ทำการทดลองยาหลากหลายชนิด เมื่อการระบาดผ่านไปราว 5-6 เดือน ทำให้ข้อมูลเชื้อไวรัสชัดเจน ส่งผลให้ “ยา” ที่เคยทดลองก่อนนี้กลับใช้ไม่ได้ผลในการต้านไวรัส ดังนั้นงานวิจัยในไทย “สมุนไพรกระชายขาว” ถือว่า มีความคืบหน้าที่สุดในการยับยั้งโควิด-19
ส่วนต่างประเทศ...ก็มีการ “ทดลองยา” เช่นกัน แต่เป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนา “ดีไซน์ยา” ด้วยการถอดรหัสเชื้อไวรัสโควิด-19 และนำไป “ดีไซน์ยา” ที่ได้จากการสกัดจาก “สารเคมี” ออกมาใช้ยับยั้งเชื้อไวรัสนี้
ยกตัวอย่าง “ประเทศจีน” มีการทดลองพัฒนา “ยาต้านเอนไซม์” ที่เรียกว่า “โปรตีเอสไวรัสโควิด-19” มีอยู่ 2 ชนิดคือ ชนิดแรก...“N3” ที่เป็นรหัสชื่อตามทางเคมี และ ชนิดที่สอง...“11A” ซึ่งยา 2 ชนิดนี้ในห้องปฏิบัติการสามารถยับยั้งเชื้อไวรัสได้ดี และกำลังทดลองในสัตว์ เพื่อสังเกต “ความเป็นพิษ” อาจใช้เวลาราว 2-3 เดือน
ทว่า...การพัฒนา “ยา” มีกรรมวิธีผลิตต่างจาก “วัคซีน” เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมียาต้านตระกูลโคโรนาไวรัส หรือโควิด-19 เกิดขึ้นมาก่อน ทำให้ต้องเริ่มต้นคิดค้นพัฒนาขึ้นใหม่ ส่วน “วัคซีน” เคยมีการผลิตมาตั้งแต่ “วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า” มาจนถึง “วัคซีนโควิด-19” ที่มีวิธีการพัฒนา และเทคนิคการผลิตไม่ต่างกันมาก
ทำให้การ “พัฒนาวัคซีน” มีความคืบหน้าไปได้เร็ว เพราะ “ทั่วโลก” ต่างมีความหวังที่ไม่ต้องการให้คนไม่เคยติดเชื้อโควิด-19 ต้องกลายเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ขึ้น จึงต่างมุ่งมั่นในการ “ผลิตวัคซีน” เพื่อป้องกันเป็นหลัก ส่วน “การผลิตยารักษา” แม้ว่าจะมีความจำเป็นก็ตาม แต่ก็ยังเป็นเรื่องของปัญหาปลายเหตุ
เพราะหากมี “วัคซีน” ที่นำไปสู่การป้องกันที่ดี ก็ย่อมไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ เมื่อไม่มีผู้ติดเชื้อก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาในการรักษาผู้ป่วยตามมา...
นี่คือ...ความหวังของ “คนทั้งโลก” ต่างรอเวลาได้ใช้ “วัคซีนและ ยารักษาโควิด-19” ที่จะเป็นหลักประกันของความปลอดภัยสูงสุด...