การประชุมวิชาการเภสัชกรรม โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ครั้งที่ 28 “Current and Future Pharmaceutical Innovations for Sustainable Healthcare System”
> หลักการและเหตุผล
นวัตกรรมและเทคโนโลยีเภสัชกรรมเป็นศาสตร์ปัจจุบันได้เข้ามามีบทบาทในการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ โรค NCDs หรือ โรค Non-Communicable Diseases ซึ่งไมได้เกิดจากเชื้อโรค และไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ แต่เป็นโรคที่เกิดจากพันธุกรรม นิสัยหรือพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต ซึ่งจะมีการดำเนินของโรคอย่างช้าๆ ค่อยๆ สะสมอาการอย่างต่อเนื่อง และเมื่อมีอาการของโรคแล้วมักเกิดอาการเรื้อรังของโรคด้วย ตัวอย่างของโรคได้แก่ โรคทางระบบหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคสทางระบบประสาท โรคไขมันในเลือดสูง ฯลฯ จึงเป็นเหตุให้งานนวัตกรรมและเทคโนโลยีเภสัชกรรมมีความเกี่ยวข้องอย่างยิ่งในเรื่องของ การแนะนำเภสัชตำรับ รูปแบบยา สมบัติทางเคมีกายภาพ วิธีที่เตรียมและเครื่องมือที่ใช้ การบรรจุรวมถึงบรรจุภัณฑ์ การเก็บรักษาและการควบคุมคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันทั้งยาชื่อสามัญ (Generic Drugs) หรือยาต้นแบบ (Original Drugs) รวมถึงยาชีววัตถุคล้ายคลึง (Biosimilars) ที่เป็นเภสัชชีวภัณฑ์ที่ผลิตเลียนแบบยาต้นแบบ จะต้องมีการศึกษาเปรียบเทียบกับยาต้นแบบในด้านคุณภาพยา ประสิทธิภาพ และความปลอดภัย อีกทั้งรูปแบบยาเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ออกแบบ พัฒนามาแตกต่างกันเพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้ป่วยเฉพาะโรคนั้นมีความสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสเข้าถึงยา รวมถึงความร่วมมือในการใช้ยาที่ถูกต้อง เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพสูงสุด
โดยเภสัชกรเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีบทบาทความสำคัญ ในกระบวนการคัดเลือกยาไปจนถึงการให้คำแนะนำการใช้ยาแก่ผู้ป่วย ให้เกิดความถูกต้องและมีความเข้าใจในเรื่องของอุปกรณ์เครื่องมือที่ต้องใช้ เมื่อเกี่ยวข้องกับการใช้ยานั้นๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์ในการใช้ยา รวมถึงมีความปลอดภัยจากการใช้ยาสูงสุด จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เภสัชกรจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในตัวยาแต่ละประเภท แต่ละรูปแบบ รวมถึงอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ที่ประกอบการใช้ยาเพื่อให้ได้ยาที่มีคุณภาพ ใช้ยาได้อย่างเหมาะสมและช่วยเหลือผู้ป่วยให้เข้าถึงยาในการรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ต้องมีการรักษาอย่างต่อเนื่อง
>วัตถุประสงค์
1.เพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้เกี่ยวกับประเด็นที่ส่งผลต่อคุณภาพ รวมถึงสิ่งที่จำเป็นในการพิจารณาคุณภาพของยาชื่อสามัญ (Generic Drugs) หรือยาต้นแบบ (Original Drugs) รวมถึงยาชีววัตถุคล้ายคลึง (Biosimilars)
2.เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของเภสัชกรโรงพยาบาลให้มีความรู้และทักษะที่จำเป็นในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
3.เพื่อให้เภสัชกรโรงพยาบาลได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ในการดูแลด้านยา การปฏิบัติงานวิชาชีพ การให้ข้อมูลผู้ป่วย เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงาน
> ที่มา ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์ สภาเภสัชกรรม